วันอังคารที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2561

เขาหัวแตก


       ตำนานเล่าว่ามีนาคาชื่อว่า พญากอบ เป็นบุตรของท้าวภุชงค์ ซึ่งเป็นราชาของนาคราช เมื่อโตขึ้น ได้ไปพบรักกับนางศรีขัน ซึ่งเป็นบุตรของยักษ์วัดหูแกง พญากอบเกิดชอบพอและได้พานางศรีขันหนี ต่อมานางศรีขันได้ตั้งท้อง พญากอบจึงใช้มนต์สร้างถ้ำต่าง ๆ ให้เป็นที่อยู่ของนางศรีขัน แต่ยักษ์วัดหูแกงได้มาเห็น ด้วยความโกรธจึงได้แผลงศรอัคคีหมายจะเอาชีวิตพญากอบ แต่พญากอบใช้มนต์ทำให้ศรพลาดไปโดนยอดภูเขา ขาดกระเด็น จึงกลายเป็นที่มาของเขาหัวแตก
ลักษณะเป็นภูเขาที่มีน้ำล้อมรอบ ส่วนปลายของภูเขาจะแยกออกจากกัน ซึ่งที่นี่จะมีกิจกรรมพายเรือคายัครอบเขา และ มีร้านอาหารแลวิว ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว

ถ้ำเลเขากอบ


       เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็น Unseen Thailand มีลักษณะเป็นภูเขาที่มีน้ำไหลผ่าน ภายในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยที่สวยงาม มีถ้ำที่หลากหลายเช่น ถ้ำคนธรรพ์ ถ้ำรากไทร ถ้ำท้องพระโรง ถ้ำสวรรค์ ถ้ำลอด เป็นต้น ถ้ำที่จัดว่าเป็นไฮไลท์ของที่นี่คือ ถ้ำลอด หรือ ถ้ำมังกร โดยเพดานถ้ำจะมีลักษณะคล้ายกับกระดูสันหลังของมังกร การที่จะผ่านถ้ำนี้ไปได้นั้น จะต้องนอนราบไปกับเรือ เนื่องจากเพดานถ้ำจะต่ำที่สุดแคบที่สุดและมีระยะทางที่ยาวที่สุด ซึ่งสร้างความหวาดเสียว ลุ้นระทึกและความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเสมอ




ลิเกป่า



       ลิเกป่าคือศิลปะการแสดงทางภาคใต้ ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยเอกลักษณ์ของลิเกป่าบ้านเขากอบนั้นจะเป็นการนำลิเกป่าแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ หรือจะเรียกว่าจินตนาการขึ้นมาใหม่ก็ได้ เนื่องจากคณะลิเกป่าที่บ้านเขากอบเพิ่งจะรวมตัวกันเพื่อรื้อฟื้นศิลปะวัฒนะธรรมแขนงนี้ โดยฟังจากคำบอกเล่าของคนเถ้าคนแก่ในหมู่บ้านแล้วนำข้อมูลนั้นไปแต่งเติมจนเป็นเอกลักษณ์ของลิเกป่าบ้านเขากอบ



กีฬาชนโค


     เป็นกีฬาพื้นถิ่นทางภาคใต้ โดยนำวัววัยหนุ่มที่มีลักษณะที่ดีมาขุนเลี้ยงให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อจะนำไปชนแข่งขันกัน โดยก่อนจะทำการชนนั้น จะต้องนำวัวชนไปเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ภาษาใต้เรียกว่า “เคียงวัว” เพื่อดูความเสียเปรียบได้เปรียบกัน หลังจากนั้นก็จะนำวัวไปฟิตซ้อม ซึ่งการซ้อมก็จะมีการเดินออกกำลังกายทั้งตอนเช้าและเย็น , นำวัวไปเล่นดิน หรือ แทงดิน เป็นต้น จนกว่าจะถึงวันแข่งขัน  ในการตัดสินแพ้ชนะจะดูจากวัวที่วิ่งหนีคู่ต่อสู้ก่อนจะเป็นฝ่ายแพ้และอีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายชนะ



วันอังคารที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2561

ขนมเปี๊ยะปิ้งบ้านพยูน




เป็นการนำสูตรขนมเปี๊ยะดั้งเดิมมาพัฒนาต่อยอด โดยมีจุดเด่นคือการนำมาปิ้งแทนการอบ หรือทอด มีไส้ให้เลือกมากมายนับ 10 ไส้ และใช้เนยละลายเป็นส่วนผสมของการทำแป้ง ซึ่งเมื่อนำไปปิ้งก็จะทำให้ขนมที่ออกมาแทบจะไม่มีน้ำมัน ซึ่งดีต่อสุขภาพ



อุโมงต้นยาง


                เป็นถนนที่เชื่อมต่อระหว่างถ้ำเลเขากอบ - เขาหัวแหวน ซึ่งถนนเส้นนี้จะมีสวนยางพาราทั้ง 2 ฝั่ง ของถนน ทำให้บางช่วงถนนมีต้นยางที่โน้มเข้าหากันเป็นอุโมง ซึ่งสร้างความสวยงามและร่มรื่นให้กับถนนเส้นนี้ 

อุโมงต้นยาง

ข้าวไร่ดอกข่า




ภาคใต้เป็นภาคที่มีเกษตรกรทำนาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่พื้นที่เกษตรจะเป็นสวน ในการคมนาคมสมัยก่อนก็ไม่สะดวก ชาวบ้านที่ไม่มีพื้นที่ลุ่มที่สามารถมาทำนาได้ก็ต้องปลูกข้าวไร่เพื่อไว้บริโภคในครัวเรือนเอง ต่อมาเมื่อการคมนาคมสะดวกข้าวไร่ก็ลดความจำเป็นลงเนื่องจากการซื้อหาสะดวกกว่า จึงทำให้ชาวบ้านทอดทิ้งสายพันธุ์ข้าวต่างๆ ไป
พื้นที่ปลูกข้าวไร่ดอกข่าจะเป็นพื้นที่ในสวนปาล์มน้ำมันหรือสวนยางพาราที่เพิ่งปลูกใหม่เพราะยังไม่มีร่มเงาบังต้นข้าว พื้นที่ปลูกยางพาราจะสามารถปลูกข้าวไร่ได้ 3 ปี ส่วนสวนปาล์มน้ำมันจะปลูกได้แค่ 2 ปี เพราะใบปาล์มจะคลุมแปลง แสงแดดที่ได้จะไม่เพียงพอสำหรับต้นข้าว พื้นที่ที่ปลูกนี้ไม่ใช่เป็นของคนปลูกข้าวแต่คนปลูกข้าวจะทำความตกลงกับเจ้าของสวนยางหรือปาล์ม โดยเจ้าของสวนจะให้ใช้พื้นที่ฟรีแลกกับการดูแลต้นยางหรือต้นปาล์มตอบแทน เป็นการได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย สมัยก่อนครัวเรือนหนึ่งจะใช้พื้นที่ปลูกแค่ 1 หรือ 2 ไร่

ข้าวไร่ดอกข่า

ข้าวดอกข่า เป็นข้าวไร่พันธุ์พื้นเมืองที่มีความต้านทานต่อโรค เมล็ดยาว สีของเมล็ดข้าวสารมีสีน้ำตาลแดงอมม่วง เมื่อสุกจะมีกลิ่นหอม คล้ายกลิ่นใบเตย รสชาติอร่อย ข้าวไม่แข็ง หุงขึ้นหม้อ

กระเป๋าผ้าปาเต๊ะ




กระเป๋าผ้าปาเต๊ะ ในตอนเริ่มต้นได้ตัดเย็บด้วยผ้าเส้นใยฝ้าย (Cotton) ทั่วไป และได้เล็งเห็นว่าผ้าปาเต๊ะผูกพันกับคนไทยภาคใต้มาช้านาน จึงได้พัฒนาเป็นกระเป๋าผลิตจากผ้าปาเต๊ะ สีสันสวยงาม การตัดเย็บที่ประณีต ซึ่งในอนาคตมีการพัฒนาในรูปแบบที่หลากหลาย และออกแบบลายเฉพาะของตำบลเขากอบ

เครื่องจักรสานจากไม้ไผ่



เป็นงานหัตถกรรมซึ่งในอดีตชาวบ้านจะทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สุ่ม ไซ ข้อง  เป็นต้น แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยทำเป็นโคมไฟตกแต่งบ้านในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าให้เข้ากับยุคสมัยในปัจจุบัน



โคมไฟจากไม้ไผ่


สุ่มไก่



ผลิตภัณฑ์จากไม้เทพธาโร


ไม้เทพธาโร หรือ ไม้จวง (ในภาษาถิ่นใต้) เป็นไม้หอมทางภาคใต้ เดิมไม้ชนิดนี้จะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากชาวบ้านมีการโค่นป่าปลูกยางพารากันมากขึ้น ทำให้ไม้ชนิดนี้ถูกโค่นทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เหลือส่วนตอกับรากที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ ชาวบ้านจึงมีแนวคิดที่จะนำรากไม้เหล่านั้นมาแกะสลักเป็นของที่ระลึกเพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวถ้ำเลเขากอบ โดยแรก ๆ นั้น จะแกะเป็นพยูน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดตรัง ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากไม้เทพธาโร ให้มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ประเภทงานกลึง ประกอบด้วย ชุดน้ำชา ชุดเชี่ยนหมาก แก้วน้ำ เป็นต้น ประเภทงานแกะสลัก ประกอบด้วย องค์เทพต่าง ๆ พระพุทธรูป สัตว์มงคลหลากหลายชนิด และงานตามออเดอร์ของลูกค้า เป็นต้น ประเภทอื่น ๆ ประกอบด้วย การสกัดน้ำมันเทพธาโร ยาหม่องจากน้ำมันเทพธาโร เป็นต้น                                                               

ในตำบลเขากอบมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้เทพธาโรที่จดทะเบียน OTOP ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ 1.เทพธาโรเรวัฒน์ (กลุ่มช่วยเหลือเยาวชนต่อต้านยาเสพติด) และ 2. กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้เทพธาโรถ้ำเลเขากอบ ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีรูปแบบงานที่โดดเด่นแตกต่างกันออกไป

        

กลุ่มเยาวชนต้ายยาเสพติด (เทพธาโรเรวัฒน์)



กลุ่มไม้เทพธาโรถ้ำเล (อ.สุภาพ พลการ)


กิจกรรมกลุ่มไม้เทพธาโร




ชุดน้ำชาจากไม้เทพธาโร



วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2561

ขนมค่อมยายหลี (ขนมสอดไส้)



       ขนมค่อม เป็นชื่อเรียกทางภาคใต้ เป็นขนมสูตรโบราณที่สืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ในอดีตครอบครัวไหนที่ไม่ได้ทำนา ก็จะทำขนม เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนเป็นข้าวสาร ซึ่งขนมค่อมก็เป็นหนึ่งในขนมที่นิยมทำกัน จุดเด่นของขนมค่อมยายหลี คือ แป้งจะมีรสเค็มเล็กน้อย ตัดกับไส้มะพร้าวที่เหนียวหนึบและหวานกลมกล่อม ซึ่งสูตรนี้เป็นสูตรดั้งเดิมตั้งแต่โบราณ

เขาหัวแตก

        ตำนานเล่าว่ามีนาคาชื่อว่า พญากอบ เป็นบุตรของท้าวภุชงค์ ซึ่งเป็นราชาของนาคราช เมื่อโตขึ้น ได้ไปพบรักกับนางศรีขัน ซึ่งเป็นบุตรข...